7 วิทยายุทธ์ พร้อมรับมือ “ชัทดาวน์กรุงเทพ”!!
หลังจากสถานการณ์การบ้านการเมืองตกอยู่ใน “บรรยากาศมาคุ” มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อีกแค่สามวันก็จะถึงวันที่อาจจะกลายเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในหน้าประวัติ ศาสตร์การเมืองไทย ..ใช่แล้วค่ะ สมิตกำลังพูดถึง “ชัทดาวน์กรุงเทพ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 13 มกราคมนี้
สำหรับใครที่ยังคงงงๆก๊งๆกับชีวิตว่าควรจะเตรียมตัวอย่างไรดีในวันชัทดาวน์ กรุงเทพ วันนี้สมิตจะขอแนะนำกลเม็ดเคล็บ(ไม่)ลับในการรับมือ “ชัทดาวน์กรุงเทพ” สไตล์คนไอทีอย่างเราๆ
1.ชาร์จแบตให้พร้อม สำรองไว้ยิ่งดี
นอกจากการเตรียมตุนเสบียงน้ำและอาหารไว้บ้างแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรทำในคืนวันก่อนชัทดาวน์คือเตรียมชาร์จแบต Gadgets ทั้งหลายของคุณให้เต็มไว้ก่อน ถ้ามีแบตสำรองหรือ Power bank ยิ่งดีค่ะ เพราะใครจะไปคาดเดาได้ว่าคุณอาจจะเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันจนไม่สามารถกลับ บ้านได้ ถ้าถึงเวลานั้นแบตมือถือดันมาหมดก็คงไม่รู้จะร้องเรียกให้ใครมาช่วย อย่าคิดว่า “ช่างมัน! เดี๋ยวค่อยมาชาร์จแบตที่ออฟฟิศแล้วกัน” เพราะไม่แน่ว่าในวันนั้นคุณอาจจะไม่มีโอกาสไปถึงออฟฟิศด้วยซ้ำไป!
2.เช็คดูสักนิด ก่อนคิดจะออกจากบ้าน
สำหรับใครที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านเพื่อไปทำงานได้ในวันนี้ ขอแนะนำว่าให้เปิดแอพแผนที่ต่างๆเพื่อเช็คสภาพการจราจรให้ดีก่อนค่ะ แอพที่อยากจะแนะนำให้เพื่อนๆลองใช้คือแอพ NOSTRA Map Thailand ที่เพิ่งมีการอัพเดทล่าสุด เพิ่มข้อมูล Special Layer ตำแหน่งที่ควรหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจร ที่คาดการณ์ว่าจะเป็นจุดนัดหมายการชุมนุม ในวันชัทดาวน์กรุงเทพเอาไว้
นอกจากแอพ NOSTRA Map Thailand แล้ว เพื่อนๆอาจจะติดตั้งแอพพลิเคชั่นแผนที่เอาไว้เพิ่มในเครื่องอีกสักตัว เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ยกตัวอย่างเช่นแอพ BMA Live Traffic บน iOS หรือ Bangkok Traffic บนระบบแอนดรอยด์
3.ไปต่อไม่ถูก เรียกแท๊กซี่ดีกว่า
หากเกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นจะต้องเรียกแท๊กซี่กลับบ้าน แต่ไม่รู้จะไปเรียกแท๊กซี่จากไหน พอเรียกได้คุณพี่คนขับก็ปฏิเสธไม่ยอมไปคันแล้วคันเล่า ถ้าไม่อยากเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ขอแนะนำให้ลองใช้แอพ Grab Taxi สำหรับการเรียกรถแท๊กซี่ นอกจากจะสามารถระบุตำแหน่งที่เราอยู่ตอนนี้เพื่อที่จะค้นหาแท๊กซี่คันที่ อยู่ใกล้ๆได้แล้ว ยังสามารถตรวจสอบชื่อ หน้าตาคนขับ และ เลขทะเบียนรถ เพื่อความอุ่นใจได้อีกด้วย
4.เหตุด่วนเหตุร้าย ต้อง Hotline สายด่วน!
ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดฝัน หลายคนอาจจะนึกอะไรไม่ออก ชีวิตนี้จำได้แต่เบอร์โทร 191 อย่างเดียว ..หากเป็นเช่นนั้นขอแนะนำให้ติดตั้งแอพ “HotLine” ที่รวบรวมเบอร์สายด่วนทั้งหลายแหล่ที่จำเป็นไว้อย่างครบครัน ตั้งแต่เบอร์แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ไฟไหม้ น้ำไม่ไหล ไฟดับ หรือเบอร์โทรศัพท์ร้านอาหาร Delivery ต่างๆก็มีให้หมด
5.เสพข่าวอย่างมีสติ…และใช้วิจารณญาณ
เชื่อได้เลยว่าในวันชัทดาวน์กรุงเทพจะต้องเป็นอีกวันหนึ่งที่ Social Networks แสนจะวุ่นวาย เพราะคนพากันแชร์รูปแชร์ข้อมูลนู่นนี่นั่นเต็มไปหมด! แต่ช้าก่อน!! อย่าเพิ่งเชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่แชร์ต่อๆกันมาบนโลกอินเตอร์เน็ท เพราะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีบางคนพยายามจะปั่นกระแสให้คนไทยเกลียดกัน ทางที่ดีก็ไม่ควรปักใจเชื่ออะไรง่ายๆ อาจจะลองตรวจสอบรูปภาพที่แชร์ๆกันมาได้ง่ายๆด้วยตัวเองตามบทความที่สมิตเคย นำเสนอไปก่อนหน้านี้ค่ะ >> [เทคนิคจับผิด “รูปเก่าเล่าใหม่ปั่นกระแสการเมืองเดือด” !!]
6.ไปไหนไม่ได้ หาอะไรกินดี?
สำหรับใครที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ลำบากชีวิตเหลือเกินในการเดินทางไปไหน ถ้าไม่มีอะไรจำเป็นจริงๆ สมิตขอแนะนำให้อยู่บ้าน อย่าออกไปไหน สั่งอาหารมากินที่บ้านดีกว่าค่ะ เดี๋ยวนี้พวกฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลด์ หรือ KFC นอกจากจะโทรสั่งอาหารก็ยังสามารถสั่งผ่านเว็บได้แล้ว ซึ่งบางร้านก็มีโปรโมชั่นพิเศษต่างๆให้กับลูกค้าที่สั่งผ่าน online ไหนๆก็อยู่บ้านว่างๆทั้งที ลองสั่งอาหารผ่านเว็บดูเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตก็ไม่เลวนะคะ
และถ้าเกิดนึกครึ้มอยากจะทำอาหารกินเองอยู่ที่บ้าน แต่ไม่มีวัตถุดิบก็สามารถสั่งซื้ออาหารสดออนไลน์จาก Tesco Lotus ได้นะคะ บริการ Delivery ส่งถึงที่ให้อีกด้วย
7.สงบจิตสงบใจ ละไว้ซึ่งการเมือง
ข้อสุดท้ายและท้ายสุด หากรู้สึกว่าการเมืองนั้นเครียดเกินไป ขอแนะนำให้ละทิ้งซึ่งทางโลก… เอ้ย!! ละทิ้งเรื่องการเมืองไปบ้าง แล้วหันมาพึ่งธรรมะในการสงบจิตสงบใจ จะลองติดตั้งแอพ “สวดมนต์ (ThaiPray)” สำหรับเปิดฟังบทสวดมนต์พร้อมสวดตามไปด้วย หรือจะฟังเทศน์ฟังธรรมผ่านแอพ “DhammaLife” ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีที่จะช่วยให้สบายใจขึ้นบ้างในสถานการณ์ตึงเครียดเช่น นี้
จบไปกันแล้วสำหรับ [7 วิทยายุทธ์ เตรียมรับมือ “ชัทดาวน์กรุงเทพ”!!] …ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆบ้างไม่มากก็น้อย …ยังไงก็อย่าเครียดเรื่องการเมืองมากเกินไป พยายามเดินสายกลาง มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ปล่อยให้อคติบังตาจนมาทำร้ายคนไทยด้วยกันเองนะคะ
สนับสนุนเนื้อหา: Arip
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น