text and walk มนุษย์เดินก้มหน้า
มีนิสัยการใช้เทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่ถ้าหากมีใครมาเล่าให้ฟังว่าตัวเองทำ ซู่ชิงก็ต้องคงคอนเซ็ปต์ หยิบแว่นขึ้นมาใส่เพื่อจะได้มีลุคมองลอดแว่นอันน่าเกรงขาม ยกนิ้วชี้ขึ้นมาเสมอหน้า ปรับเสียงเข้มดุ แล้วบอกว่า ไม่ได้นะ อย่าทำ มันอันตราย...
แต่ถึงเวลาเข้าจริงๆ ก็พบว่าตัวเองก็เผลอทำด้วยเหมือนกัน แถมหาความชอบธรรมให้ตัวเองเสร็จสรรพด้วยการบอกว่ามันเป็นเรื่องด่วนนี่นา
พฤติกรรมที่ว่าก็คือ texting and walking
หรือการเดินไปด้วยเท็กซ์ไปด้วยค่ะ
ในเมืองไทยเราน่าจะได้เริ่มเห็นพฤติกรรมนี้กันจนคุ้นตาก็ตอนที่ Blackberry เข้ามาโด่งดังในบ้านเรา และเด็กวัยรุ่นจะต้องมีห้อยคอกันไว้คนละเครื่องเพื่อให้สะดวกแก่การคว้ามาแชตจึงเกิดเป็นปรากฏการณ์คนเดินก้มหัวทั่วห้างสรรพสินค้าที่ยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้
การเดินไปด้วยและก้มหน้าเล่นสมาร์ตโฟนไปด้วยนอกจากจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง อย่างเช่นเบาะๆ ก็เดินไปชนนั่นชนนี่ให้เป็นแผลฟกช้ำดำเขียวเบาๆ ไปจนถึงคลิปต่างๆ ที่เราเห็นว่อนกันบนอินเตอร์เน็ตอย่างการเดินแชตจนตกลงไปในน้ำพุของห้างสรรพสินค้าหรือการแชตเพลินจนเดินตกท่อแล้วขึ้นเองไม่ได้ที่ทำให้คนสมน้ำหน้าทับถมกันอย่างสนุกปากแล้ว ก็ยังเป็นอันตรายต่อคนอื่นด้วยเพราะเขาอาจจะเดินของเขาดีๆ ตามแบบฉบับมนุษย์ปกติทั่วไป แต่ก็ถูกชนโดยมนุษย์ก้มหัวแบบไม่รู้ตัว อันนี้ใช้คอมมอนเซนส์บอกแบบบ้านๆ เดินไปเล่นโทรศัพท์ไปมันอันตรายเพราะไม่ได้มองทาง น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ๆ กันอยู่แล้ว แต่หากต้องการหลักฐานที่จับต้องได้มากกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์เขาก็ทำวิจัยกันแล้วเรียบร้อยค่ะ
ผลการวิจัยครั้งนี้เปิดเผยโดยทีมวิจัยจาก University of Queensland ในประเทศออสเตรเลียซึ่งเคลมว่าเป็นงานวิจัยแรกที่สำรวจว่าการพิมพ์ข้อความบนโทรศัพท์มือถือนั้นส่งผลอย่างไรต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายบ้างพวกเขาทำการวิจัยด้วยการให้คนสุขภาพดีทั้งหมด 26 คนเดินไปตามเส้นตรงที่มีความยาวประมาณ 28 ฟุต ในขณะที่ปฏิบัติภารกิจ 3 อย่างที่แตกต่างกันไปด้วย อย่างแรกคือการเดินเฉยๆ แบบไม่ใช้โทรศัพท์ อย่างที่สองคือการเดินพร้อมอ่านข้อความบนโทรศัพท์ และอย่างที่สามคือการเดินพร้อมพิมพ์ข้อความว่า the quick brown fox jumps over the lazy dog ("จิ้งจอกสีน้ำตาลตัวว่องไวกระโดดข้ามหมาขี้เกียจ" ซึ่งเป็นประโยคคลาสสิคที่รวมทุกตัวอักษรภาษาอังกฤษมาอยู่ในประโยคเดียวกัน มักจะใช้ในการพิมพ์ทดสอบแป้นพิมพ์คีย์บอร์ด)
ในระหว่างปฏิบัติภารกิจทั้งสามอย่าง นักวิจัยก็จะประเมินการเคลื่อนไหวของร่างกายอาสาสมัครแต่ละคนด้วยการใช้ระบบวิเคราะห์การเคลื่อนไหวแบบสามมิติ ซึ่งก็ทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาในที่สุดว่าการพิมพ์ข้อความไปจนถึงการอ่านข้อความมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวในขณะกำลังเดิน เวลาที่อาสาสมัครพิมพ์ข้อความ พวกเขาก็จะเดินช้าลง เดินเบี่ยงออกจากเส้นตรงที่กำหนดไว้มากขึ้น และจะขยับคอน้อยกว่าตอนที่อ่านข้อความเฉยๆ
ส่วนผลวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจาก University of Buffalo ก็รับรองอันตรายของการเดินไปเท็กซ์ไปด้วยโดยออกมาให้ข้อมูลว่าพฤติกรรมแบบนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าการเท็กซ์ไปด้วยขับรถไปด้วยเสียอีก และบอกว่าแม้การคุยโทรศัพท์ระหว่างเดินก็ทำให้เสียสมาธิเหมือนกันแต่การก้มส่งข้อความมันอันตรายกว่าเยอะเพราะว่าเราจะไม่ได้มองทางเลย ไม่ใช่แค่การพิมพ์ข้อความหากันเฉยๆ นะคะ นี่ยังไม่กิจกรรมการอัพเดตสถานะบน Facebook หรือว่าการเช็กข่าวสารต่างๆ จากหน้าฟีด Twitter ที่ขยับอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องแบ่งสมาธิและความสนใจไปไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
Ohio State University เปิดเผยตัวเลขคนเดินถนนที่ต้องแวะไปเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์มือถือนั้นเพิ่มมากขึ้นสามเท่าตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปี 2010 และผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ในช่วงวัย 16-25 ปี ซึ่งก็แน่นอน...วัยที่กำลังเท็กซ์มันจนไฟลุกนั่นแหละ
Ohio State University เปิดเผยตัวเลขคนเดินถนนที่ต้องแวะไปเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์มือถือนั้นเพิ่มมากขึ้นสามเท่าตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปี 2010 และผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ในช่วงวัย 16-25 ปี ซึ่งก็แน่นอน...วัยที่กำลังเท็กซ์มันจนไฟลุกนั่นแหละ
แต่แน่นอน ต่อให้มีคำเตือนบ้านๆ ของซู่ชิง แถมด้วยผลการวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวของนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันมีชื่อเสียง ถ้าคนยืนยันจะ text and walk ต่อไป แล้วใครจะทำอะไรได้ ในเมื่อเตือนแล้วก็ยังทำเพราะฉะนั้นนักพัฒนาซอฟต์แวร์เขาก็เลยต้องช่วยกันหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด (ก็คงคล้ายๆ กับห้ามเด็กวัยรุ่นไม่ให้มีเซ็กซ์ไม่ได้ ก็สอนวิธีมีเซ็กซ์อย่างปลอดภัยไปเลยดีกว่า) อย่างเช่นล่าสุดก็มีแอพพลิเคชั่นชื่อ Audio Aware ที่เป็นผลงานของ One Llama Labs ในนครนิวยอร์ก ซึ่งออกแบบมาสำหรับคนที่ชอบเดินเสียบหูฟังฟังเพลงหรือเดินไปเท็กซ์ไป แอพพลิเคชั่นนี้จะสแกนหาอันตรายในสิ่งแวดล้อมรอบตัวโดยการฟังเสียงผ่านไมโครโฟนของสมาร์ตโฟน เช่น เสียงกรีดร้อง เสียงไซเรน เสียงยางล้อรถบดถนนดังเอี๊ยด แล้วนำไปเปรียบเทียบกับคลังเสียงที่มีอยู่ในแอพพลิเคชั่น ถ้าหากเป็นเสียงที่ตรงกันหรือใกล้เคียงกัน แอพพลิเคชั่นนั้นก็จะสั่งปิดเสียงอะไรก็ตามที่ผู้ใช้งานกำลังฟังอยู่ แล้วแทนที่ลงไปด้วยเสียงอันตรายในเวอร์ชั่นดังๆ เพื่อให้รู้ตัว
ซึ่งแอพพลิเคชั่นก็จะเรียนรู้เสียงใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ (เพราะสำหรับในบางประเทศเสียงไซเรนก็แตกต่างกัน) แอพพลิเคชั่นนี้พัฒนามาสำหรับโทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ก่อนแต่ยังไม่มีวันที่เปิดตัวที่แน่ชัด และสำหรับ iOS ก็น่าจะตามมาไม่นานหลังจากนั้น
ในระหว่างรอคอยให้แอพพลิเคชั่นนี้เปิดตัว ตอนนี้ก็มีแอพอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในการช่วยรักษาความปลอดภัยให้คนที่ text and walk อยู่กลาดเกลื่อนกระจัดกระจายอยู่ตามร้านค้าแอพไม่ว่าจะเป็น Google Play หรือ App Store แค่เซิร์ชด้วยคีย์เวิร์ด text กับ walk ก็น่าจะมีผลลัพธ์เด้งออกมามากมาย แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ส่วนใหญ่จะทำงานตอบโจทย์ในแบบคล้ายคลึงกัน ซึ่งก็คือเท็กซ์ไปด้วยเดินไปด้วยแล้วมองไม่เห็นทางงั้นเหรอ ถ้างั้นก็ใช้กล้องของสมาร์ตโฟนให้เป็นประโยชน์ เปลี่ยนหน้าจอให้เป็นแบบโปร่งแสง ใช้กล้องหลังแสดงภาพทางเดินตรงหน้าเป็นแบ๊กกราวน์ในระหว่างที่เรากำลังพิมพ์ข้อความ ทำให้แม้จะก้มหน้าเดินงุดๆ แต่ก็ยังมองเห็นทางตรงหน้าได้อยู่ คล้ายๆ กับการมองทะลุโทรศัพท์ได้อะไรแบบนั้น
ตอนนี้ที่มีวางขายอยู่แล้วก็อย่างเช่น Walk N Text, Walking Text, Transparent Screen หรือ Type n Walk เป็นต้น (ก็บอกแล้วว่าใช้คีย์เวิร์ด 2 คำเอาอยู่) แม้จะมีแอพพลิเคชั่นตัวช่วยที่ทำให้เราสามารถเดินไปได้เท็กซ์ไปได้ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมความจริงหลักๆ ที่ว่า การไม่เดินไปเท็กซ์ไปนี่แหละดีที่สุด และถึงจะมีแอพพลิเคชั่นคอยช่วยแต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น ถ้าเดินอยู่แล้วจำเป็นต้องพิมพ์ข้อความ ก็หยุดเดินแป๊บนึง หาที่นั่ง พิมพ์เสร็จค่อยเดินต่อก็จะปลอดภัยที่สุดกำลังเตือนตัวเองอยู่ด้วยค่ะ
คอลัมน์ Cool Tech โดย จิตต์สุภา ฉิน Sue_Chint Facebook.com/JitsupaChin นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ภาพประกอบ www.complex.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น