เทคนิคง่ายๆ ในการเตรียมมือถือของคุณไม่ให้กลัวน้ำกันดีกว่า!
มือถือกับน้ำเป็นอะไรที่ไม่ค่อยจะถูกกัน แม้ในช่วงเวลาปกติเรายังเคยได้ยินผ่านหูผ่านตาบ่อยๆ ว่ามีใครสักคนทำมือถือตกน้ำ หรือโดนน้ำกระเซ็นใส่แล้วเกิดอาการแปลกๆ โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ถือเป็นเวลายอดฮิตของเหตุมือถือเปียกน้ำกันเลยทีเดียว ซึ่งอาการเปียกน้ำมีจากหลายสาเหตุ เป็นต้นว่า แต่งตัวหล่อๆ สวยๆ จะออกไปเที่ยวห้างไม่คิดว่าจะมีใครมาสาดน้ำ แต่ก็โดนสาดจนเปียกชุ่มไปทั้งคนทั้งมือถือ อีกกรณีหนึ่งสำหรับคนที่เตรียมตัวไปอย่างดี หาวัสดุมาห่อหุ้มสมาร์ทโฟนเพื่อกันน้ำ แต่ปรากฏว่าอุปกรณ์กันน้ำทำงานผิดพลาด มีน้ำลอดเข้าไปทำให้เปียกน้ำในที่สุด... แต่ถ้าจะเอามือถือเก็บไว้ที่บ้าน ก็จะทำให้ชีวิตขาดสีสันในการแชร์ช่วงเวลามันๆ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นแน่
เพื่อให้ทุกคนได้เล่นน้ำไปด้วย แชทไปด้วย หรืออัพรูปขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์กไปด้วยอย่างสนุกสนาน โดยไม่ต้องกังวลว่ามือถือ หรือสมาร์ทโฟนจะเจ๊งด้วยฝีมือน้องน้ำ เราขอนำเสนอบทความดีๆ เกี่ยวกับการเตรียมมือถือให้พร้อมสำหรับการเล่นสงกรานต์ เชิญติดตามได้เลยครับ
สมาร์ทโฟนของคุณกันน้ำได้หรือไม่?
วิธีที่ง่ายที่สุด แต่จะทำให้คุณเปลืองเงินมากที่สุด คือการเลือกซื้อมือถือ หรือสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันน้ำ!!!
แต่หากคุณไม่มีเงินมากพอ หรือยังไม่อยากได้มือถือเครื่องใหม่ ให้ลองตรวจสอบสเปคของมือถือที่คุณมีอยู่จากเว็บไซต์ของผู้ผลิต (หรือตรวจสอบจากเว็บไซต์ของเรา) ไม่แน่ว่ามือถือที่อยู่ในมือของคุณอาจมีฟีเจอร์กันน้ำก็เป็นได้ และต่อไปนี้เป็นตัวอย่างรายชื่อบางส่วนของมือถือทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ที่มีฟีเจอร์กันน้ำ ลองดูว่ามีมือถือของคุณอยู่ในรายชื่อหรือไม่
หากจะบอกว่า Sony เป็นเจ้าพ่อแห่งการผลิตมือถือกันน้ำ ก็คงจะไม่เกินความจริงแต่อย่างใด เราลองมาดูคุณสมบัติการกันน้ำของ Sony Xperia Z2 ที่ระบุไว้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Sony Mobile ประเทศไทยกันครับ ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
Xperia Z2 มีคุณสมบัติกันฝุ่นและกันน้ำได้ตามการรับรองมาตรฐานการป้องกัน IP55 และ IP58 เมื่อปิดพอร์ตและฝาครอบทั้งหมดให้สนิท โทรศัพท์จะสามารถกันน้ำแรงดันต่ำที่ฉีดใส่จากทุกด้านได้ตามมาตรฐานการป้องกัน IP 55 และ/หรือสามารถแช่น้ำจืดที่ระดับความลึก 1.50 เมตร นาน 30 นาทีได้ตามมาตรฐานการป้องกัน IP58
ส่วนทางฝั่ง Samsung Galaxy S5 ที่เพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ เราได้ข้อมูลมาว่า สามารถอยู่ในน้ำได้ในระดับความลึก 3 ฟุต ได้นานถึง 30 นาที โดยน้ำไม่เข้าไปทำความเสียหายให้กับตัวเครื่อง
ซึ่งการเคลมประกันความเสียหายจากประเด็นน้ำเข้าเครื่องสำหรับมือถือ หรือสมาร์ทโฟนรุ่นกันน้ำได้ ยังคงเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากไม่มีสมาร์ทโฟนเครื่องใดสามารถกันน้ำได้ 100% ในทุกกรณี และยังมีตัวแปรมากมายที่ทำให้ประสิทธิภาพในการกันน้ำของมือถือลดลง อาทิ การปิดฝาพอร์ตต่างๆ ไม่แน่นสนิท การปิดฝาตัวเครื่องไม่แนบสนิท หรือตัวเครื่องจมลงในระดับความลึกที่เกินขีดความสามารถในการป้องกัน หรือจมน้ำเป็นระยะเวลานานเกินไป หรือโดนฉีดด้วยน้ำที่แรงดันสูงเกินขีดความสามารถในการป้องกัน ประกอบกับยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถตรวจสอบได้ว่าเหตุใดน้ำจึงเข้า เครื่อง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่หากนำมือถือรุ่นกันน้ำได้ ส่งเข้าศูนย์ซ่อมด้วยอาการน้ำเข้าเครื่อง เราก็ยังคงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมไม่ต่างอะไรจากมือถือรุ่นปกติที่ไม่สามารถกันน้ำได้
ดังนั้นแม้ว่ามือถือของคุณจะมีฟีเจอร์กันน้ำ ก็ควรตรวจสอบให้ดีว่าฝาพอร์ตต่างๆ ปิดแน่นหนาดีหรือไม่ ฝาหลังตัวเครื่องปิดแน่นหนาดีหรือไม่ และควรเก็บมือถืออย่างมิดชิด ไม่ให้ตัวเครื่องปะทะโดยตรงกับแรงดันจากปืนฉีดน้ำแรงดันสูงที่วัยรุ่นสมัยนี้เขามิยมเล่นกัน ซึ่งแรงดันน้ำสูงๆ อาจทำให้น้ำเล็ดรอดเข้าตัวเครื่องได้
สวมเกราะให้มือถือ
ถ้า มือถือของคุณไม่มีฟีเจอร์กันน้ำก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะมีหลากหลายวิธีการในการแปลงร่างมือถือของคุณให้กันน้ำ ซึ่งก็มีตั้งแต่วิธีการที่แพงแบบสุดๆ ไปจนถึงวิธีการที่ไม่ต้องเสียตังค์สักบาท เราลองมาดูวิธีการแบบแพงๆ ที่ดูมีมาตรฐาน และน่าเชื่อถือกันก่อน
ในกรณีนี้ iPhone ดูจะมีภาษีดีกว่าสมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่นๆ เพราะมีชุดเกราะกันน้ำแบบหล่อๆ ให้เลือกสวมใส่ได้มากมายหลายแบบ อาทิ เคสกันน้ำจาก LifeProof ที่กันน้ำลึก 2 เมตร ได้ครึ่งชั่วโมง ราคาประมาณ 3,000 บาท, เคสตระกูล OtterBox Armor Series ที่กันน้ำกันฝุ่นและกันกระแทกได้ดีเยี่ยม ราคาประมาณ 3,500 บาท หรือเคสตระกูลSurvivor Catalyst ที่ดำน้ำได้ลึก 3 เมตร ป้องกันการตกกระแทกได้ถึง 2 เมตร ราคาประมาณ 1,300 บาท และที่เหมือนจะเป็นเซอร์ไพรส์ คือเคสกันน้ำสำหรับ iPad ก็มีกับเขาด้วย... ที่เด่นสุดเป็นเคสจากตระกูล Griffin Survivor ที่มีทั้งรุ่นสำหรับ iPhone, iPad และ iPad mini ซึ่งมีคุณสมบัติในการกันน้ำกันฝุ่นเป็นเยี่ยม
ชุดเกราะกันน้ำกันแรงกระแทกสำหรับ iPhone และ iPad หลาก หลายรุ่นที่เรายกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น ได้ถูกออกแบบมาให้สวมใส่ได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องถอดออก ช่องพอร์ตต่างๆ สามารถเปิดออกเพื่อเสียบสายชาร์จหรือสายหูฟังได้ตามปกติ (แต่เมื่อจะออกไปเล่นสาดน้ำต้องปิดพอร์ตให้แน่นหนา) หน้าจอสามารถแตะสัมผัส ไมโครโฟน และลำโฟงสำหรับการสนทนาโทรศัพท์ยังใช้ได้ปกติ กล้องถ่ายภาพก็ยังใช้งานได้ นั่นหมายความว่าคุณสามารถใช้ iPhoneถ่ายภาพบรรยากาศการสาดน้ำ หรืออัพเดทโซเชียลเน็ตเวิร์กระหว่างการสาดน้ำได้แบบชิลๆ (แต่ระวังปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเอาไว้นิดก็ดี)
ทางออกสำหรับคนที่อยากเอา Samsung Galaxy ติด ตัวไปเล่นสงกรานต์ได้แบบชิลๆ ให้ลองค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับ “ฟิล์มกันน้ำมือถือ” ซึ่งมีคนเอาเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราอยู่หลายยี่ห้อ และรองรับการใช้งานกับ Samsung Galaxy ได้หลายรุ่น ลักษณะของมันคล้ายกับถุงฟิล์มใสที่มีขนาดพอดีตัวเครื่อง เมื่อสวมใส่เรียบร้อยก็เหมือนว่าตัวเครื่องถูกห่อเอาไว้อย่างมิดชิด และในกรณีที่จะเสียบสายขาร์จก็ต้องถอดฟิล์มออก ทำให้ฟิล์มประเภทนี้เหมาะที่จะใช้งานในเฉพาะช่วงสงกรานต์ หรือในกรณีที่ต้องการเอา Samsung Galaxy ลงไปถ่ายภาพใต้น้ำเท่านั้น เมื่อเสร็จงานแล้วต้องถอดออก แต่ข้อดีของฟิล์มประเภทนี้คือราคาถูก เพียงแค่ชุดละประมาณ 300 บาท และขณะสวมฟิล์มก็ยังสนทนาโทรศัพท์ แตะหน้าจอ และถ่ายรูปได้ตามปกติ
ยืดอกสวมถุง!
วิธีการง่ายๆ ประหยัด และใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทุกรุ่นมีอยู่ 2 วิธีการที่คนพูดถึงกันบ่อยที่สุด วิธีการแรกคือหาซื้อซองใส่สมาร์ทโฟนแบบมีซีลปิดกันน้ำ ที่หาซื้อได้ง่าย และราคาไม่แพง แต่ด้วยความที่เป็นของราคาถูกทำให้ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนใช้งานว่าระบบซีลสามารถกันน้ำไม่ให้เข้าไปในซองได้จริงหรือไม่? สายคล้องคอมีความแข็งแรงขนาดไหน เนื่องจากมีหลายกรณีที่เดียวที่ระบบซีลของซองกันน้ำไม่สามารถกันน้ำได้จริง ทำให้น้ำเข้าไปในซองได้และในหลายกรณีพบว่าสายคล้องคอขาด (อาจเกิดจากเจ้าของเครื่องสนุกสุดเหวี่ยงเกินไปหน่อย) ทำให้สมาร์ทโฟน หล่นกระแทกพื้นจนหน้าจอแตก จะสนุกสุดเหวี่ยงขนาดไหนก็อย่าถึงขั้นให้สายคล้องคอขาดนะครับ และแน่นอนว่าด้วยตัวซองใส่ที่ค่อนข้างหนาและใหญ่กว่าตัวเครื่องสมาร์ทโฟนอ ยู่พอควร การจะแตะหน้าจอเล่นแอพทั้งๆ ที่เครื่องยังอยู่ในซองคงทำได้ไม่ค่อยสะดวกนัก
อีกหนึ่งวิธีที่ดูเหมือนเป็นเรื่องตลกแต่กลับช่วยให้สมาร์ทโฟนหลายๆ เครื่องรอดตายจากช่วงสงกรานต์ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา คือการจับสมาร์ทโฟนใส่ถุงแกงร้อนแบบใส แล้วมัดหนังยางกันน้ำเข้า (โดยควรเลือกใช้ถุงที่มีขนาดใหญ่กว่าสมาร์ทโฟนพอสมควร และตรงจุดที่มัดยางควรพับถุงหลายๆ ทบ เพื่อกันไม่ให้น้ำเข้าไปในถุงได้ง่ายๆ และเพื่อความไม่ประมาทควรหมั่นตรวจดูเป็นระยะๆ ว่าน้ำเข้าถุงหรือไม่) ด้วยผิวบางๆ และใสของถุงแกงทำให้เราแตะสั่งงานบนหน้าจอได้อย่างสบายๆ จะแชท Line หรืออัพสเตตัสระหว่างการสาดน้ำก็สบายมาก และด้วยความใสของถุงทำให้ไม่เป็นปัญหากับการถ่ายภาพแต่อย่างใด อีกทั้งยังสามารถสนทนาโทรศัพท์ได้ปกติโดยไม่ต้องเอาสมาร์ทโฟนออกมาจากถุง เราได้ลองแล้วพบว่าการจับสมาร์ทโฟนใส่ถุงแกงมัดหนังยาง สามารถกันน้ำได้จริง โดยควรเลือกใช้ถุงที่สะอาด ไม่มีรูรั่ว หนังยางที่ใช้ควรอยู่ในสภาพดี ไม่ใกล้เปื่อยขาด และการมัดหนังยางต้องทำอย่างแน่นหนา
สำหรับคนที่ใช้ซองห้อยคอแบบกันน้ำอยู่แล้ว จะสวมถุงแกงเข้าไปอีกชั้นเพื่อเพิ่มความมันใจก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น