ติดตามข่าวสารอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่ thaizones.net นะครับ.. ^0^. ขับเคลื่อนโดย Blogger.

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อยากเป็นคนที่ถูกลืมบนอินเตอร์เน็ต

Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน @Sue_Ching Facebook.com/JitsupaChin ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
ปกติแล้วเวลาต้องการจะพูดถึงคนที่มีความทรงจำยอดเยี่ยมและมักจะไม่ลืมอะไรง่ายๆ สำนวนสุภาษิตภาษาอังกฤษจะนำไปเปรียบกับช้างซึ่งเป็นสัตว์ที่อาศัยการจดจำได้ แม่นยำในการเอาตัวรอด จนกลายเป็นคำกล่าวว่า Elephants never forget หรือช้างไม่เคยลืม

แต่มาในยุคดิจิตอลแบบทุกวันนี้ มีอะไรอย่างหนึ่งที่จดจำได้เหนือชั้นยิ่งกว่าช้างเสียอีก จำไว้ขึ้นใจ และจารึกเอาไว้เป็นหลักฐานอีกเนิ่นนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้

สิ่งนั้นก็คืออินเตอร์เน็ตค่ะ

กิจกรรม ที่เราทุกคนน่าจะทำและควรทำกันบ่อยๆ ในที่ลับตาคนไม่มีพยานรู้เห็น (เพราะอาจจะถูกครหาว่าเช็กเรตติ้ง) ก็คือการป้อนชื่อตัวเองเข้าไปในเสิร์ชเอ็นจิ้นแล้วดูว่าจะได้ผลลัพธ์อะไร กลับออกมาบ้าง เพื่อที่จะให้รู้ว่าถ้าหากมีใครสักคนเสิร์ชชื่อเรา เขาคนนั้นจะได้เห็นอะไร

เพราะอย่าลืมนะคะว่าทุกวันนี้คนเรารู้จักกันใหม่ๆ สิ่งแรกที่ต้องตรวจสอบก่อนก็คือดูว่ามีใครพูดถึงคนคนนั้นว่าอย่างไรบ้างบน โลกอินเตอร์เน็ต

เป็นวิธีชั้นเยี่ยมที่แผนกทรัพยากรบุคคลของบริษัทจะใช้ในการค้นคว้าหาข้อมูล เบื้องต้นว่าผู้สมัครแต่ละคนเหมาะจะรับเข้ามาทำงานหรือเปล่า

ถ้าหากผลลัพธ์ที่ได้จากการเสิร์ชชื่อเราออกมาสวยงาม ดูดีมีชาติตระกูล เคยได้รับรางวัลยกย่องเกียรติคุณมามากมาย มีแต่คนพูดถึงด้วยความรักใคร่ อันนั้นก็โชคดีไป ถือว่ามีตัวตนบนอินเตอร์เน็ตที่สะอาดสะอ้านน่าคบหา ยังความประทับใจแรกเริ่มให้แก่ผู้เสิร์ชเห็น

แต่ถ้าหากกลับกัน สิ่งที่พบกลายเป็นภาพน่าขายหน้าตอนเมาหัวราน้ำในงานปาร์ตี้กับเพื่อนมหาวิทยาลัยหลังสอบเสร็จ

มีชื่อเข้าไปพัวพันอยู่ในกระทู้ฉาวบนเว็บบอร์ดชื่อดังของประเทศไทย เคยมีคนเขียนพาดพิงถึงให้เสียๆ หายๆ หรือถูกดำเนินคดีเมื่อครั้งหนึ่งนานมาแล้ว อันนี้ก็จะกลายเป็นตราบาปที่ประทับหน้าผากเอาไว้ไม่รู้เลือน จะลบก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะมันเป็นข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์ของคนอื่นซึ่ง กระจัดกระจายไปทั่ว

เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับชายคนหนึ่งซึ่งนำมาสู่ประเด็นที่เราโปรยกันเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าอินเตอร์เน็ตไม่เคยลืม

เมื่อ 16 ปีที่แล้วชายชาวสเปนคนหนึ่งเคยประสบกับปัญหาด้านการเงินอย่างหนักหน่วงจนถูก นำทรัพย์สินส่วนตัวไปออกขายทอดตลาด และในตอนนั้นก็กลายเป็นข่าวอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ข่าวเหล่านั้นท้ายที่สุดก็มาลงเอยอยู่บนสื่อออนไลน์ด้วย

เวลาผ่านไปสถานะทางการเงินของเขาดีขึ้น เขาก็อยากจะโยนประสบการณ์ร้ายๆ ทิ้งไปแล้วเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ปัญหาก็คือ ทุกครั้งที่มีการเสิร์ชหาชื่อของเขา ผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาเป็นข่าวเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์สินในครั้งนั้น เป็นปีศาจที่วนเวียนหลอกหลอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันและทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อ เสียงไม่รู้จบ จนเขาต้องร้องขอให้มีการลบชื่อของเขาออกจากผลลัพธ์ที่ได้จากการเสิร์ชผ่าน เว็บไซต์ Google

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก หลังจากที่ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปที่ตั้งอยู่ในลักเซมเบิร์กได้ตัดสิน เข้าข้างเขา โดยเห็นควรให้เขาได้รับสิทธิซึ่งขนานนามกันว่า right to be forgotten หรือสิทธิที่จะถูกลืมนั่นเอง

ผลจากการตัดสินในครั้งนี้ทำให้ Google ต้องลบชื่อของเขาที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ขายทอดตลาดทรัพย์สินออกจาก ผลลัพธ์การค้นหาทั้งหมด แม้เนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาจะยังอยู่ตามเว็บไซต์ต่างๆ เหมือนเดิม แต่ลิงก์ไปยังเนื้อหาเหล่านั้นจะไม่ปรากฏขึ้นมาบนหน้าผลลัพธ์การค้นหาของ Google ให้คลิกเข้าไปถึงได้ง่ายๆ อีกต่อไป

และทำให้เรื่องน่าอับอายของเขาจะถูกลืมไปได้ในที่สุด หรืออย่างน้อยก็ไม่โผล่ขึ้นมาประจานโจ่งแจ้งเหมือนเก่า

แม้จะเป็นข่าวดีสำหรับชายสเปนคนนั้นและคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อยากเดินตามรอยเขาด้วยการขอให้มีการนำข้อมูลน่าอายของตัว เองออกจากผลลัพธ์การค้นหาบน Google เหมือนกัน

แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่ใช่ว่าใครขอก็จะทำให้ได้ เนื่องจากมันมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ระหว่างสิทธิที่จะถูกลืม กับ สิทธิที่จะได้รู้

เพราะการให้สิทธิกับกลุ่มแรก ก็จะหมายถึงลดทอนสิทธิของกลุ่มหลัง ซึ่งนำไปสู่การเซ็นเซอร์ข้อมูลออนไลน์ในที่สุด

จะทำอย่างไรให้ทุกคนได้รับสิทธิที่จะถูกลืมโดยที่ไม่เป็นการลบประวัติศาสตร์ ไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะจริงอยู่ว่าถึงแม้สื่อต่างๆ จะตีพิมพ์ข่าวออนไลน์ได้เหมือนเดิม แต่หากเสิร์ชเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่อย่าง Google ไม่แสดงผลให้เห็นแล้ว การเข้าถึงก็คงจะยากขึ้นกว่าเดิมมาก จนกลายเป็นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไปได้ เรื่องนี้ไม่ง่ายเลยจริงๆ

หลังจากการตัดสินครั้งนั้น Google ก็เปิดให้มีการกรอกแบบฟอร์มออนไลน์เพื่อขอให้บริษัทพิจารณาลบผลลัพธ์การค้น หาบางอย่างออกจากการค้นหาชื่อของตัวเองได้ ภายในวันแรกที่เปิดให้กรอกแบบฟอร์มได้ก็มีคนส่งเข้ามามากกว่า 12,000 คน หรือประมาณ 20 คำขอต่อนาที

ซึ่งทาง Google ก็จะต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าคำขอของแต่ละคนตรงกับมาตรฐานข้อกำหนดของบริษัทแค่ไหน ในตอนนี้เปิดให้กรอกแบบฟอร์มได้เฉพาะคนในยุโรปก่อนเท่านั้น

จะว่าไปแล้วนี่ก็เหมือนเป็นฝันร้ายของ Google เลยนะคะ เพราะลองนึกดูว่าจะต้องมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดยเฉพาะ แถมถ้าจำเป็นจะต้องให้บริการพิจารณาแต่ละเคสของผู้ใช้งานทั่วโลก ก็หมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่จะต้องลงทุนไปกับปฏิบัติการที่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ

แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาของสหภาพยุโรป ซึ่งผลักดัน "สิทธิที่จะถูกลืม" มาตั้งแต่ต้นปี 2012 แล้ว และถ้าหากร่างกฎหมายผ่านโดยสมบูรณ์เมื่อไหร่ ไม่ใช่แค่เสิร์ชเอ็นจิ้น แม้กระทั่งบริษัทที่ให้บริการโซเชียลมีเดียก็จะต้องให้ความร่วมมือด้วยการลบ ข้อมูลต่างๆ ที่มีคนร้องขอทิ้งไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาพน่าอายที่เพื่อนเราแชร์ไว้ หรือโพสต์อะไรที่กล่าวอ้างให้เราเสื่อมเสียชื่อเสียง หากบริษัทไหนไม่ยอมทำตามก็จะต้องถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 1% ของรายได้ทั้งหมดที่บริษัททำได้ทั่วโลก

ส่วนจะวัดกันยังไงว่าข้อมูลของใครสมควรได้รับการลบออกหรือไม่ลบออกจาก ผลลัพธ์การค้นหานั้นจะดูกันเป็นอย่างๆ ไป อันดับแรกคือดูว่าข้อมูลที่ร้องเรียนมานั้นเก่าล้าสมัยไปแล้วหรือเปล่า

อย่างที่สองคือการพิจารณาว่าข้อมูลนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวของคนที่ ถูกพาดพิงถึงแค่ไหน และเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนหรือเปล่า

พูดง่ายๆ ก็คือ Google จะยอมลบลิงก์ไปยังข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นถ้าหากเป็นข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งมากกว่าผล กระทบที่มีต่อการที่สาธารณชนในการได้รับรู้ข้อมูลนั้นๆ อย่างเช่น ประวัติเสื่อมเสียของนักการเมืองมีแนวโน้มจะลบได้ยากกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากอยู่ในความสนใจและเป็นประโยชน์ของสาธารณชนที่จะได้รับรู้ประวัติ ของนักการเมืองคนนั้นๆ นั่นเอง

ความน่ากังวลอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามก็คือทุกวันนี้ Google ก็ถูกครหาหนาหูอยู่แล้วว่าจ้องจะรวบข้อมูลทั้งหมดไว้ในกำมือของตัวเองจนกลาย เป็นองค์กรมหาอำนาจทางข้อมูลที่ชี้ชะตาของโลกได้

การเปิดโอกาสให้ Google มีสิทธิเลือกได้ว่าจะอนุญาตให้ลบหรือคงข้อมูลไหนเอาไว้นั้น ก็จะเป็นการเปิดประตูไปสู่รูปแบบการเซ็นเซอร์ข้อมูลออนไลน์แบบใหม่และอำนาจ เหนือผู้ใช้ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่ตอนนี้ยังไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าอยากได้รับสิทธิที่จะถูกลืมก็คงต้องใช้โมเดลนี้กันไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น